พลังงานทดแทน
กระทรวงพลังงานได้นิยามความหมายของพลังงานทดแทนเอาไว้ว่า “พลังงานที่นำมาทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยแบ่งตามแหล่งที่มาเป็น 2 ประเภทคือ พลังงานทดแทนที่ใช้แล้วหมดไป หรือพลังงานสิ้นเปลือง เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ นิวเคลียร์
และพลังงานทดแทนอีกประเภทหนึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้แล้วสามารถหมุนเวียนมาใช้ได้อีก เรียกว่า พลังงานหมุนเวียน ได้แก่ แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล น้ำ เป็นต้น”
จากคำนิยามของกระทรวงพลังงานจะเห็นว่าพลังงานทดแทนจำพวก พลังงานสิ้นเปลือง ที่จะนำมาใช้เเทนน้ำมันเชื้อเพลิงแท้ๆ แต่กลับมีคุณสมบัติคล้ายกันกับตัวน้ำมันเชื้อเพลิงครับ คือนอกจากจะใช้เเล้วหมดไปแล้วยังก่อให้เกิดมลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อย่างมหาศาลอีกด้วย ทำให้ทั่วโลกเริ่มมีการศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับพลังงานทดแทนอีกชนิดคือ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ไม่มีวัดหมดไป นำมาใช้ได้ง่ายกว่า และแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยกว่า เรียกได้ว่าเป็น พลังงานสะอาด (Clean Energy) จริงๆ
*** เพิ่มเติมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change จริงๆก็คือภาวะโลกร้อน หรือ Global Warming ที่เคยได้ยินกันบ่อยๆนั้นเเหละครับ แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์นิยมเรียกเป็น Climate Change ซะมากกว่า เพราะมันไม่ได้เจาะจงเพียงแค่อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น
ถึงในประเทศไทยเราจะมีแต่เพิ่มขึ้นก็เถอะ แต่ในมุมของโลกเเล้ว มันยังรวมถึงบางพื้นที่ที่อุณหภูมิลดลงจากเดิม ไปจนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการไต่ระดับของอุณหภูมิด้วยครับ
ในปัจจุบันหลายๆประเทศทั่วโลกก็ยังคงทุ่มศึกษาเกี่ยวกับ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อย่างต่อเนื่อง ทำให้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนในปัจจุบันมีราคาลดลงจนจับต้องได้ และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปอย่าง ถ่านหิน น้ำมัน ก็มีปริมาณลดลงเรื่อยๆครับ
จากที่เขียนมาทั้งหมด SE&S สามารถตอบได้อย่างมั่นใจเลยครับ ว่าโลกของเราจะก้าวไปสู่อนาคตที่ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่มากขึ้น และรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย

 

พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) อย่างที่รู้กันครับว่าแสงอาทิตย์เป็นทรัพยากรที่มีมากที่สุดของโลกเรา ซึ่งถ้าเราสามารถนำปริมาณของพลังงานแสงอาทิตย์ที่ส่งมาถึงโลกเราใน 1 ชัวโมงไปเปลี่ยนเป็นพลังงานที่นำไปใช้ได้ เราจะได้พลังงานมากกว่าความต้องการใช้พลังงานของโลกใน 1 ปีซะอีก
แสงอาทิตย์จึงเป็นพลังงานสะอาดที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายและเข้าถึงง่ายที่สุด ที่เห็นภาพกันชัดๆเลยก็คือการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ซึ่งก็มีตั้งเเต่สเกลใหญ่อย่างโรงผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Farm) จนถึงแบบติดตั้งบนหลังคาอาคารบ้านเรือน (Solar Roof)

 

พลังงานน้ำ (Hydro Power, Water Power ) เป็นอีกแหล่งพลังงานธรรรมชาติที่มีให้หมุนเวียนใช้อย่างไม่มีวันหมด โดยอาศัยหลักการการเคลื่อนที่ของน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ อย่างเช่น การเปิดประตูน้ำจากเขื่อน ให้น้ำไหลออกมาเพื่อหมุนใบพัด และเครื่องปั่นไฟฟ้า เพื่อผลิตไฟฟ้า แม้ว่าพลังงานน้ำจากเขื่อนเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ถูกผลิตมากที่สุดในประเทศไทย
แต่ในภาคครัวเรือนก็ยังเป็นพลังงานทดแทนที่จับต้องได้ยากอยู่ดีครับ

 

พลังงานลม (Wind Energy) เป็นพลังงานจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่ใช้ลมในการหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เพื่อเปลี่ยนพลังงานลม เป็นพลังงานไฟฟ้า แต่ในประเทศไทยก็ยังมีการใช้ประโยชน์จากลมค่อนข้างน้อย เนื่องจากปัญหาด้านความเร็วลมครับ

 

พลังชีวมวลหรือไบโอแมส (Biomass Energy) มวลชีวภาพ หรือ ชีวมวล คือ วัสดุที่เกิดมาจากธรรมชาติ เช่น พืช และสัตว์ กากหรือเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย มูลสัตว์ การใช้งานคือการเอาเอาชีวมวลไปเผา จะมีการปล่อยพลังงานเคมีออกมา ในรูปของความร้อน และนำความร้อนนี้ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ
ฟังเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าใช้พลังงานนิวเคลียร์นะครับ แต่ถ้าเทียบกับน้ำมันหรือถ่านหิน ชีวมวลบางชนิด อย่างการเผาต้นไม้ ก็มีการปล่อยแก๊สเรือนกระจกออกมา (Carbon Emission) มากกว่าการใช้น้ำมัน และถ่านหิน ซะอีกครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *